วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552
รายชื่อผู้จัดทำ
การเลี้ยงช้าง
คำสั่งของควาญช้าง ความหมายในทางปฏิบัติ
ฮาว ให้หยุด
ไป ให้เดินต่อไป
ชิด ให้เข้าไปใกล้ ชิด ติด
ดุน เดินถอยหลัง
ทาว การคู้เข่าหลังทั้งสองข้าง
ต่ำ การคู้เข่าหน้าทั้งสองข้างและก้มหัวลง
ทาวต่ำลง การคู้เข่าลงทั้งหมดทั้งสี่เท้าให้ติดดิน
ส่ง ยกขาหน้า
สูง ยกขาหน้าข้างเดียวเพื่อให้คนเหยียบขึ้นขี่บนคอ
จับมาๆ สั่งให้จับสิ่งของที่ตกหล่นส่งให้กับคนที่ขี่บนคอ
บน ๆ ให้ใช้งวงฟาดหรือกดสิ่งกีดขวางที่อยู่ข้างหน้าในระยะสูง
สาวมา ใช้งวงดึงโซ่ที่ผูกขามากองรวมกัน
อย่า เป็นการสั่งห้ามไม่ให้ดื้อรั้นหรือทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ
มานี่ ให้เดินเข้าใกล้ผู้สั่งหรือเดินตาม
งัด ใช้งวงหรืองางัดท่อนไม้ให้กลิ้ง
โสก ใช้ขาดันให้ท่อนไม้เคลื่อนที่ออกไปด้านหลังในแนวตรง
ยก ใช้งาสอดท่อนไม้ตามขวาง ใช้งวงรัดและยกขึ้น
รับ ยกขาหน้าสูงขึ้นเพื่อให้คนที่ขี่บนคอเหยียบลง
ทาวแม้บ ขณะอาบน้ำในคลอง ควาญช้างใช้มือตบที่หัวช้างแล้วสั่งเพื่อต้องการให้นอนและหัวช้างดำลงมิอผิวน้ำ
จก ใช้งวงดูดน้ำแล้วพ่นเข้าปาก
กด ใช้งวงดูดน้ำแล้วพ่นเข้าปาก
อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้กับช้างใช้งาน
โซ่
ขนาด 3-4 หุน ผูกขาช้างล่ามโซ่ติดกับต้นไม้ใหญ่
ลำยง (ลำโยง)
ขนาด 4-5 หุน เป็นโซ่ชักลากซุง
พานหน้ารองบ่า
ถักทอด้วยเชือกเป็นผืนยาว 1.5 เมตร ปลายสองข้างมีรูสำหรับสอดโซ่ลำยง
หนังรองหลัง
ทำจากเปลือกไม้ ใช้เชือกถักทอเป็นสี่เหลี่ยมด้านเท่า ยาว 1.5 เมตร ใช้สำหรับรองบนหลัง
ตะขุบ (ไม้ก๊อบ)
มี 2 อัน เป็นไม้หน้าตัดสี่เหลี่ยม ยาว 50 เซนติเมตรขนาดเท่าต้นกล้วยใหญ่ ใช้วางทับไม่ให้หนังหล่นหรือหลุด
สายรัดตะโคน
ทำด้วยหวาย ยาวเข้าคู่กัน 2 เส้น ปลายสอดข้างขมวดเป็นวงกลม ผูกรัดตัวช้างโดยกดทับอยู่บนตะขุบ ให้ยึดแน่นกับแผ่นรองหลัง
แหย่ง
สร้างด้วยโครงไม้รูปสี่เหลี่ยม ด้านล่างโค้งเพื่อให้วางเข้ารูปกับหลังช้าง เพื่อบรรทุกสิ่งของ หรือให้คนนั่ง
บ่วงคล้องช้าง
ใช้เชือกผูกยึดระหว่างโคนหางกับแหย่ง ไม่ให้ลื่นไหลไปด้านหน้า
ไม้ค้ำโซ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดเท่าแขน ค้ำโซ่ลำยงให้ห่างจากตัวช้างเพื่อป้องกันการเสียดสี
เครื่องมือบังคับช้าง
ตะขอ
มีรูปร่างยาวประมาณ 1 คืบ ทำด้วยเหล็กขนาดเท่าหัวแม่มือปลายแหลมเป็นรูปโค้ง ด้ามทำด้วยไม้ยาวประมาณ 1 ศอกถ้าจะให้ช้างหันมาทางขวา จะใช้ตะขอเกี่ยวกกหูด้านซ้ายแล้วดึงมาทางขวา ถ้าจะให้หันทางซ้ายก็จะใช้ตะขอเกี่ยวทางด้านขวาแล้วดึงมาทางซ้าย ถ้าจะให้ช้างหยุดก็ใช้ตะขอเกี่ยวที่กลางหัวบริเวณโหนกแล้วดึง พร้อมกับพูดว่า "ฮาว"
หอก
ทำด้วยเหล็ก มีรูปร่างคล้ายมีดปลายแหลมยาว 1 คืบ ด้านตรงข้ามกับปลายแหลม มีรูทรงกระบอก สำหรับใส่ด้าม ยาว 2 วาใช้กับช้างพยศ ดื้อรั้น อาละวาดไม่เชื่อฟัง
กะแจะ
ทำด้วยเหล็กวงกลมร้อยต่อกันหลายวง คล้ายโซ่ มีไว้สวมข้อเท้า หน้าทั้ง 2 ข้าง เหมือนกุญแจมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใส่เพื่อไม่ให้ช้างวิ่ง หรือยกขาทำอันตรายผู้คน
มีดปลายแหลม ใช้สำหรับทิ่มที่หัว หากช้างพยศไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
ตำรายาสำหรับช้าง
ยาสำหรับช้างนี้เป็นวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้างซึ่งจะช่วยดูแลรักษาโรคให้กับช้างโดยใช้ส่วนผสมคือ
1. น้ำอ้อย 2. มะขาม 3. เหง้าสับปะรด
4. หัวผักหนาม 5. เกลือ 6. บอระเพ็ด หรือ เครือเขาหมาบ้า
7. กะทือ 8. ปะเลย (ไพล) 9. มะพร้าวขูด
ในส่วนของวิธีการทำนั้น จะนำส่วนผสมทั้งหมดมาตำรวมกันให้ละเอียด แล้วปั้นเป็นก้อนนำไปตากแดด 2-3 วัน ให้แห้ง แล้วให้ช้างกิน จะช่วยบำรุงกำลังช้างให้มีกำลังมากๆ และรักษาโรคต่างๆ ให้กับช้าง
การเล่นดอกไม้เพลิง
พุทธศักราช 2520 เป็นปีที่จังหวัดสุโขทัยเริ่มต้นฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ โดยความคิดริเริ่มของนายนิคม มูสิกะคามะ โดยพิจารณาจากหลักฐานสำคัญคือข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า
"…เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เทียรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดังจักแตก …"
การเผาเทียน คือ การจุดเทียนเพื่ออุทิศแสงสว่างของดวงเทียนเป็นพุทธบูชา เชื่อกันว่า ทำให้เกิดดวงปัญญาเฉลียวฉลาด
เล่นไฟ เห็นจะหมายถึง การจุดดอกไม้ไฟมีสีสันต่าง ๆ อย่างที่เรียกว่า พลุ ไฟพะเนียง ไฟลูกหนู ระทาดอกไม้ ฯลฯ
การเล่นดอกไม้ไฟโบราณ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ดอกไม้เพลิง เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องรวมช่างจากสาขาวิชาหลายแขนงมาทำงานร่วมกัน เช่น ช่างไม้ ช่างวาดเขียน ช่างแกะสลัก ช่างผู้ผสมเชื้อเพลิง หรือที่เรียกว่า ดินดำ ต้องเป็นช่างผู้มีความชำนาญและประสบการณ์สูง ส่วนประกอบสำคัญและเคล็ดลับในการประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงโบราณให้มีเสียง แสงสีสวยงาม แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนไทยแต่โบราณที่ได้ค้นคิดเกี่ยวกับวิทยาการแขนงนี้ไว้ด้วยความฉลาดหลักแหลมยิ่ง ปัจจุบันมีผู้สืบทอดประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงโบราณประเภท พลุ ตะไล ไฟพะเนียงที่จังหวัดสุโขทัยหลายท่านเช่น นายแผน อินสอน นายสืบสกุล (อ๊อด) แสนโกศิก และอาจารย์สัญลักษณ์ แสนโกศิก นอกจากนี้ก็ยังมีนายสิทธา สลักคำ (อัยการอาวุโส ตำแหน่งปัจจุบัน พ.ศ. 2545 ) ผู้อนุรักษ์และส่งเสริมการเล่นดอกไม้เพลิงโดยเป็นคนแรกและคนเดียวที่รวบรวมอาจารย์ผู้ประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงโบราณหลากชนิดเข้าร่วมจุดแสดงในงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟที่จังหวัดสุโขทัยในปี พ.ศ. 2528 และปี พ.ศ. 2529 โดยขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดสุโขทัย
การเล่นดอกไม้เพลิงโบราณมีจุดมุ่งหมายเพื่อน้อมนำนมัสการถวายเป็นพุทธบูชา วิธีการเล่นหรือจุดดอกไม้เพลิงจึงผูกพันกับ"สัจจธรรม" สำคัญของการมีตัวตน หรือมีชีวิต คือ "การเกิดและการแตกดับ" โดยจัดการเล่นเป็นขั้นตอนสำคัญไว้ 5 ขั้น คือ
ขั้นตอนที่ 1 การประกาศป่าวร้อง ริเริ่ม หรือก่อตัว
ตัวไฟที่ใช้จุดแสดง คือ พลุ ซึ่งจะส่งเสียงดังไปไกล เปรียบเสมือนการส่งเสียงบอกกล่าวป่าวร้อง หรือให้อาณัติสัญญาณว่างานพิธีได้เริ่มขึ้นแล้ว
ขั้นตอนที่ 2 การเกิดสรรพสิ่ง (ชาติ)
มีด้วยกัน 2 ทาง คือ ทางหนึ่งเกิดจาก ไข่ และอีกทางหนึ่ง เกิดเป็นตัวตน ได้แก่
การเล่นไฟพะเนียงไข่ ไฟปลาดุก ไฟปลาช่อน ไฟดอกไม้น้ำ ไฟลิงขย่มรังผึ้ง ไฟลูกหนู ฯลฯ
ขั้นตอนที่ 3 การแตกดับ (มหาภูติดับขันธ์)
เมื่อสรรพสิ่งทั้งหลายได้อุบัติขึ้นแล้ว สังขารย่อมไม่เที่ยงเป็นไปตามวัฏสงสารและในที่สุด
ก็ต้องแตกดับไป หรือที่เรียกว่า "ไฟธาตุ" แตกดับ ตัวไฟที่ใช้แสดงได้แก่ ไฟประทัด จุดให้ดังรัว
นับครั้งไม่ถ้วน เปรียบเสมือนเสียงแห่งการแตกดับของสรรพชีวิตซึ่งมีจำนวนมากมาย
ขั้นตอนที่ 4 ลอยตัวสู่อากาศ (ภพวิญญาณ)
เมื่อชีวิตสูญสิ้นหรือดับขันธ์ จะมีขันธ์หนึ่งในขันธ์ 5 คือ "วิญญาณขันธ์" ออกจากร่างล่องลลอยอยู่ตามอากาศ ตัวไฟที่ใช้จุดแสดงแทนดวงวิญญาณนี้ ได้แก่ ตะไล กรวดหรือตรวด และอ้ายตื้อ หรืออีตื้อ
ขั้นตอนที่ 5 บูชาผู้มีพระคุณ กงเกวียนกำเกวียน และภูมิปัญญา
ขั้นตอนนี้นับว่าสำคัญที่สุด ต้องมีการจัดสร้างต้นองค์ไฟใหญ่ 3 ชนิด คือ ไฟพเยียมาศ หรือไฟดอกไม้พุ่ม หรือไฟพวงดอกไม้ กังหันไฟ และระทา ลำดับขั้นตอนการจุดแสดงมีดังนี้ ได้แก่
ลำดับที่ 1 จุดไฟพเยียมาศ หรือไฟดอกไม้พุ่ม เปรียบเสมือนนำดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชาต่อผู้มีพระคุณและผู้มีฐานันดรศักดิ์ในงานพิธี
ลำดับที่ 2 เมื่อไฟพเยียมาศเริ่มลุกไหม้ชั่วขณะหนึ่ง จึงจุดต้นองค์ไฟระทา ซึ่งเปรียบเสมือนองค์พระและผู้มีพระคุณในงานพิธี
ลำดับที่ 3 ขณะที่ระทาใกล้จะดับลง จึงจุดกังหันไฟ หรือ ไฟเถรกวาด เปรียบเสมือนขอบขันธสีมา หรือกงเกวียนกำเกวียน
ลำดับที่ 4 เมื่อต้นองค์ไฟใหญ่ทั้งสามชนิดดับลง จึงเริ่มจดไฟพะเนียง หรือไฟกระถางให้ส่องแสงสว่างไสว เปรียบเสมือนภูมิปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง
ตั้งแต่เริ่มจุดดอกไม้เพลิงตามลำดับดังกล่าว จะต้องมีวงปี่พาทย์บรรเลงเพลง "ตระเทวาประสิทธิ์" ประกอบไปจนกว่าระทาจะดับสิ้นลง แต่หากมี "มหรสพสมโภช" ประกอบกับต้นองค์ไฟระทาอยู่ด้วยแล้ว ก็ไม่ต้องนำวงปี่พาทย์มาบรรเลง และเรียกต้นองค์ไฟระทาที่มีมหรสพนี้ว่า "ระทาช่องโขน"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/mwreg.htm
ไตรภูมิพระร่วง
หนังสือเรื่อง "ไตรภูมิ" ที่ปรากฏเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันมีหลายสำนวนคือ
1.ไตรภูมิพระร่วง หรือ ไตรภูมิกถา ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ไตรภูมิสำนวนสมัยกรุงสุโขทัยนี้ ไม่ปรากฏว่ามีต้นฉบับเดิมครั้งกรุงสุโขทัยตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ต้นฉบับที่นำมาใช้พิมพ์เผยแพร่ คือ ต้นฉบับที่พระมหาช่วยวัดปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ (วัดกลางวรวิหาร) ได้ต้นฉบับมาจากจังหวัดเพชรบุรี จึงได้จารเรื่อง ไตรภูมิ ไว้ในใบลาน 30 ผูก เมื่อ พ.ศ. 2321 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้นำออกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก เรียกชื่อว่า "ไตรภูมิพระร่วง" ต่อมานายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้แนะนำให้นางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ จัดหาผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบชำระปรับปรุงข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนที่ยังมีอยู่ และนางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจได้มอบให้นายพิทูร มลิวัลย์ เปรียญธรรมประโยค 9 ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีพุทธศาสนาตรวจสอบชำระ โดยให้รักษาของเดิมให้มากที่สุด เมื่อตรวจสอบชำระเสร็จแล้ว ต่อมาได้จัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. 2517, 2525 และ 2526 ตามลำดับ
2. ไตรภูมิโลกวินิจฉัย คือ ไตรภูมิสำนวนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชาคณะและราชบัณฑิตช่วยกันแต่งขึ้นเมื่อปีเถาะ จุลศักราช 1145 (พ.ศ. 2326) เป็นหนังสือจบ 1 ยังไม่สมบูรณ์ ครั้นถึง พ.ศ. 2345 โปรดให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) แต่งไตรภูมิโลกวินิจฉัย ให้จบความ ต่อมากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้นายพิทูร มลิวัลย์ แปล เรียบเรียงตรวจสอบชำระไตรภูมิโลกวินิจฉัยจากต้นฉบับหนังสือใบลาน และเมื่อ พ.ศ. 2520 ได้จัดพิมพ์ "ไตรภูมิโลกวินิจฉัย" ออกเผยแพร่ แบ่งออกเป็น 3 เล่ม
3. หนังสือภาพไตรภูมิ ได้แก่ ไตรภูมิภาษาเขมร แผนที่ไตรภูมิโลกสันฐานสมัยอยุธยา แผนที่ไตรภูมิสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี แผนที่ไตรภูมิโลกวินิจฉัย และไตรภูมิโลกวินิจฉัย โดยเฉพาะสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรีนั้น กรมศิลปากร โดยหอสมุดแห่งชาติได้อนุญาตให้คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์จำหน่ายเผยแพร่เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2524
ไตรภูมิพระร่วง ในที่นี้จึงหมายถึงไตรภูมิกถาที่พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ไตรภูมิกถา เป็นวรรณคดีที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุดในวรรณคดีสมัยสุโขทัย แสดงถึงปรัชญาแห่งพระบวรพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังเป็นหนังสือเก่าที่มีการอ้างอิงอย่างละเอียดและหาได้ยากในบรรดาหนังสือรุ่นเก่าเช่นนี้ คือ มีการอ้างอิงคัมภีร์ต่างๆ รวม 32 คัมภีร์ ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา และปกรณ์พิเศษ ไตรภูมิกถาเป็นหนังสือทางพุทธศาสนา จึงมีศัพท์เฉพาะที่เป็นภาษาบาลีอยู่มาก มีถ้อยคำสำนวนภาษาไพเราะงดงามประณีตอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมของไทยด้านอักษรศาสตร์นับแต่สมัยกรุงสุโขทัย เนื้อหาของหนังสือครอบคลุมโลกศาสตร์ หรือจักรวาลวิทยา อันได้แก่ศาสตร์ที่เกี่ยวกับกำเนิดโลก หรือจักรวาล และสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในจักรวาล โดยแบ่งจักรวาลออกเป็นสามภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ
กามภูมิ ได้แก่ดินแดนของผู้ที่ยังข้องอยู่ในกามคุณ มีความสุข และความทุกข์แยกย่อยออกเป็น 2 ภูมิ คือ สุคติภูมิและทุคติภูมิ สุคติภูมิแยกเป็น 2 ระดับคือ มนุสสภูมิ (แดนของมนุษย์) และสวรรค์ ส่วนทุคติภูมิแบ่งออกเป็น 4 ชั้น คือ อสุรกายภูมิ เปตภูมิ ดิรัจฉานภูมิ และนรกภูมิ
รูปภูมิ หรือสวรรค์สิบหกชั้นอยู่เหนือกามภูมิ เป็นแดนของพรหมผู้ไม่ข้องอยู่ในกามคุณ พรหมเหล่านี้ยังมีรูปร่างมีตัวตนอยู่
อรูปภูมิ เป็นแดนของพรหมผู้ดำรงอยู่ในสภาพของจิต ไม่มีร่าง ไม่มีตัวตน เสวยปีติสุขอยู่ด้วยฌานในระดับสูงกว่ารูปภูมิ ผู้อยู่ในสวรรค์ชั้นนี้จะไม่กลับมาเกิดในมนุษยโลก จะบรรลุนิพพานในที่สุด
ไตรภูมิกถายังกล่าวถึงโครงสร้างของจักรวาล กล่าวถึงความสูง ความกว้าง ของเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์ การโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวพระเคราะห์ กลุ่มดาวนักษัตรต่างๆ เวลาในแต่ละทวีป การสลายตัวและการเกิดใหม่ของจักรวาลเมื่อสิ้นกัลป์ ฯลฯ วิธีการอธิบายในไตรภูมิกถานั้นใช้การยกเรื่องราวทำนองนิยายประกอบเป็นตอนๆ โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงมนุสสภูมิ ตอนสุดท้ายกล่าวถึงนิพพานและวิธีปฏิบัติตนเพื่อบรรลุนิพพานด้วยการกำจัดกิเลสตามขั้นตอน และวิธีภาวนาโลกุตตฌานในระดับต่างๆ
โดยที่วรรณคดีเรื่องนี้มีกำเนิดขึ้นในสมัยสุโขทัย อันเป็นระยะแรกของการก่อตั้งราชอาณาจักรไทย บ้านเมืองต้องการความสามัคคีและแนวทางที่จะสร้างสรรค์ความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชน เครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์ความสงบสุขในหมู่ประชาชนในชาติก็คือ กฎหมายและศาสนา ไตรภูมิกถาเป็นวรรณคดีพุทธศาสนาที่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี นับได้ว่าเป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของปวงชน มีอิทธิพลต่อรากฐานการปกครอง การเมือง และวัฒนธรรมของชาติ โดยได้ปลูกฝังอุดมการณ์ ความเชื่อเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว และนำทางปวงชนให้มีจิตใจยึดมั่นในความดีงามและใฝ่สันติ
นอกจากนี้ วรรณคดีเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ยังมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ อย่างสูง ทั้งในด้านวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม คีตกรรม ตลอดจน ประเพณีในราชสำนักและประเพณีพื้นบ้านทั่วไป ดังจะเห็นได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ และภาพจิตรกรรมในสมุดไทยหรือหนังสือใบลาน การสร้างปราสาทราชวังเป็นชั้นในชั้นนอก การสร้างพระเมรุมาศเป็นลักษณะเขาพระสุเมรุ เหล่านี้ ล้วนเป็นศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลแนวความคิดจากไตรภูมิกถา ทั้งสิ้น
ในปี พ.ศ. 2524 โครงการวรรณกรรมอาเซียนภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสารสนเทศ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้พิจารณาให้สมาชิกแต่ละประเทศคัดเลือกวรรณกรรมที่มีคุณค่าของตนและจัดแปลวรรณกรรมที่คัดเลือกแล้วเป็นภาษาอังกฤษ คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียนฝ่ายไทยได้พิจารณาคัดเลือกแปล "ไตรภูมิกถา" สำนวนที่เชื่อว่าพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงพระราชนิพนธ์ และใช้ฉบับพิมพ์ที่นายพิทูร มลิวัลย์ ตรวจสอบชำระและกรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นต้นฉบับ และใช้ชื่อว่า "ไตรภูมิกถา-ภูมิทั้งสามอันเป็นที่อยู่ของสัตว์โลก(Traibhumikatha : The Story of the Three Planes of Existence )" เป็นหนังสือเล่มแรกที่ได้รับการจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2528 ในชุดวรรณกรรมอาเซียน (Anthology of ASEAN Literature VOLUME 1a)
ต่อมาได้มีการเรียบเรียงถอดความไตรภูมิกถานี้ออกเป็นสำนวนที่อ่านเข้าใจง่ายแทนสำนวนเดิมที่มีมากว่า 700 ปี และได้รับการจัดพิมพ์ในชื่อว่า "ไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ (Modernized Version)" รวมไว้ในหนังสือชุดวรรณกรรมอาเซียนด้วย (Anthology of ASEAN Literature VOLUME 1 b)
วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552
สมุนไพรไทย
แต่ปู่ย่า ตายาย ใช้กันมา ควรลูกหลาน รู้รักษา ใช้สืบไป
เป็นเอกลักษณ์ ของชาติ ควรศึกษา วิจัยยา ประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมัย
รู้ประโยชน์ รู้คุณโทษ สมุนไพร เพื่อคนไทย อยู่รอด ตลอดกาล "
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ฯ



จังหวัดสุโขทัยมีหมอพื้นบ้านที่มีความรู้เรื่องการรักษาโรคด้วยสมุนไพรหลายท่าน เช่น นายณรงค์ มาคง นายสุข พลาวงศ์ นายโดย เณรเอี่ยม นายบุญธรรม พัฒนเจริญ พระครูสังฆรักษ์สน ปิยสีโล เจ้าอาวาสวัดวังตะคร้อ ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านด่านลายหอย ฯลฯ
ที่จังหวัดสุโขทัยมีการปลูกสมุนไพร ณ ที่ต่างๆ กัน เช่น
สวนป่าสมุนไพร วัดวังตะคร้อ บ้านหนองจิกกรี ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านด่านลายหอย เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2537 โดยการนำของพระครูสังฆรักษ์สน ปิยสีโล เป็นโครงการปลูกสมุนไพรเพื่อการศึกษามีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีพืชสมุนไพรกว่า 600 ชนิด ใช้เป็นที่ศึกษาดูงานของชมรมแพทย์แผนไทยสวรรคโลก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบส่งโรงพยาบาลสวรรคโลก และเป็นที่ศึกษาดูงานแก่บุคคลที่สนใจทั่วไป
บ้านสมุนไพร ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านด่านลานหอย จำนวน 40 บ้านโดยทางวัดวังตะคร้อได้ขยายการผลิตวัตถุดิบไปยังชุมชนใกล้เคียง โดยการปลูกสมุนไพรบ้านละ 3 ชนิด เช่น ลูกยอ บอระเพ็ด เพชรสังฆาต กระเพราขาว ฟ้าทะลายโจร กระชาย ไพร ทำให้ชาวบ้านมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
อุทยานแห่งชาติรามคำแหง อำเภอคีรีมาศ ในพื้นที่อุทยานมีสวนลุมพินีวันปลูกว่านและสมุนไพรหลายร้อยชนิดให้ศึกษา เช่น หอมไกลดง นางคุ้ม อบเชย หนุมานประสานกาย หนุมานนั่งแท่น สบู่เลือด เพชรหน้าทั่ง เสน่ห์จันทน์ รางจืด กระวาน กำลังเสือโคร่ง เลือดค้างคาว ฯลฯ
โครงการสมุนไพรครบวงจร หมู่ 4 ปากแคว อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/mwmed.htm
เครื่องเงินโบราณ
เครื่องเงินโบราณเพิ่งถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2537 โดยคุณเตือนใจ เบาบาง จากความคิดที่ลองนำเครื่องเงินที่ช่างหัดทำทองระยะแรกทำขึ้นมาทดลองขาย ซึ่งเป็นที่นิยมและต้องการของตลาดมาก คุณเตือนใจจึงเปิดร้านทำเครื่องเงินเองเป็นร้านแรกชื่อ ร้าน ลำตัดเครื่องเงินโบราณ รับพนักงานเพิ่มขึ้นและพัฒนารูปแบบเหมือนกับรูปแบบทองโบราณ ปัจจุบันมีร้านทำเครื่องเงินโบราณมากขึ้น นับว่าเป็นความคิดริเริ่มที่กล้าหาญและช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอำเภอศรีสัชนาลัยอีกทางหนึ่ง
เครื่องทองโบราณ
ทองโบราณ หรือ ทองศรีสัชนาลัยเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของชาวบ้านตำบลท่าชัยและตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยที่บรรจงทำทองรูปพรรณเลียนแบบอย่างเครื่องทองสมัยโบราณได้อย่างสวยงาม จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของชาวไทยและชาวต่างชาติ เริ่มแรกทองโบราณเกิดขึ้นมาจากความคิดของช่างทองตระกูล "วงศ์ใหญ่" โดยมีนายเชื้อ วงศ์ใหญ่ อยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย มีอาชีพทำทองและรับซื้อทองเก่าหรือวัตถุโบราณ ทำให้มีโอกาสเห็นเครื่องทองรูปพรรณแบบโบราณต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และนับวันจะหายากยิ่งขึ้น วันหนึ่งมีผู้นำสร้อยโบราณที่ได้จากริมฝั่งแม่น้ำยมมาให้ดู จึงเกิดความคิดที่จะทำสร้อยลายแบบนี้มาก สร้อยที่เห็นนั้นเป็นสร้อยที่ทำด้วยสัมฤทธิ์ถักสานเป็นสร้อยสี่เสา จึงได้แกะลายออกมาศึกษา แกะออกมาทีละปล้อง ทีละข้อ ใช้ลวดทองแดงถักร้อยตามรูปแบบเดิม แต่ไม่สำเร็จจึงตัดสินใจไปหาชาวบ้านที่มีอาชีพถักสานกระบุง ตะกร้าให้มีลวดลายมาลองถัก หลังจากนั้นจึงได้ใช้ทองคำที่เป็นเนื้อทองสมัยใหม่มาถักสาน เรียกว่า สร้อยสี่เสา นับเป็นสร้อยเส้นแรกที่เลียนแบบโบราณได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็ได้ผลิตนำออกจำหน่ายที่ร้านขายของเก่าในจังหวัดเชียงใหม่ และร้านขายทองในตลาดสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร ทำให้ทองโบราณเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และได้รับความนิยมอย่างสูง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
การทำทองโบราณที่อำเภอศรีสัชนาลัยนั้นเป็นงานฝีมือทุกขั้นตอน รูปแบบที่นำมาผลิตได้จากรูปแบบเครื่องทองโบราณ ลวดลายประติมากรรม ลายปูนปั้น จิตรกรรมฝาผนัง ตลอดจนเครื่องทองโบราณจากแหล่งอื่น ๆ มาประมวลกันและมีการพัฒนาตกแต่งในการลงยา คือ การตกแต่งเครื่องทองให้มีสีสันสวยงาม โดยใช้หินสีบดให้เป็นผงละเอียดคล้ายทรายแก้ว นำไปแต่งหรือทาบนเครื่องทอง แล้วเป่าไฟให้เนื้อทรายหลอมติดกับเนื้อทองเป็นสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน เป็นต้น รูปแบบทองโบราณศรีสัชนาลัยจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างเด่นชัด
การทำทองโบราณศรีสัชนาลัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ประเภทเครื่องประดับ เช่นสร้อยสามเสา สี่เสา ห้าเสา หกเสา แปดเสา สร้อยก้านแข็ง กำไลข้อมือ กำไลหลอด ข้อมือถักลายเปีย แหวนทอง แหวนทองลงยา เข็มขัด ต่างหู เข็มกลัด และเครื่องประดับอื่น ๆ
2. ประเภทเครื่องใช้สอย เช่น กระเป๋า ผอบ เชี่ยนหมาก กระถางโพธิ์เงิน กระถาง โพธิ์ทอง เสื้อถักทอง กรอบรูปทอง เป็นต้น
ทองโบราณเป็นงานหัตถกรรมที่ประณีต งดงามและมีคุณค่าสูงยิ่งควรแก่การส่งเสริมให้คงไว้ตลอดไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/wgold.htm
ผ้าทอหาดเสี้ยว
ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยมีหมู่บ้านทอผ้าพื้นบ้านอยู่สี่หมู่บ้าน คือ บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่ และบ้านแม่ราก ผ้าที่ผลิตในบริเวณหมู่บ้านเหล่านี้มักเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ผ้าหาดเสี้ยว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบริเวณบ้านหาดเสี้ยวอยู่ใกล้ถนน การคมนาคมสะดวก เป็นแหล่งกลางในการซื้อขายผ้าทอพื้นบ้าน แม้ผ้าที่ทอจากเขตอื่นของสุโขทัยที่มีขายอยู่ในบริเวณบ้านหาดเสี้ยวก็มักถูกเรียกรวมไปว่า เป็นผ้าหาดเสี้ยวด้วย
ชาวหาดเสี้ยวส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายลาวพวนที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองพวนตอนใต้ ของเมืองหลวงพระบางในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บางกลุ่มไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบางท้องที่ของจังหวัดปราจีนบุรี มหาสารคาม และที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
ชาวไทยพวนปัจจุบันที่ตำบลหาดเสี้ยวเป็นกลุ่มชนที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณี ดั้งเดิมของตนไว้โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าและการตีเหล็ก การทอผ้าในบริเวณหาดเสี้ยวเป็นประเพณีที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันตลอดมาในหมู่ผู้หญิง เพราะถือว่าการทอผ้าเป็นคุณสมบัติของผู้หญิงทุกคนที่จะต้องหัดทอผ้าให้เป็นก่อนอายุ 16 ปี โดยเริ่มด้วยการหัดกรอด้ายแล้วเริ่มทอผ้าตีนจก ซึ่งถือว่าเป็นผ้าทอที่มีกรรมวิธียุ่งยากที่สุด เมื่อทอผ้าตีนจกได้แล้วจะสามารถทอผ้าชนิดอื่นได้ไม่ยาก ดังนั้นหญิงสาวแทบทุกคนจึงมีผ้าซิ่นตีนจกประจำตัวแทบทุกคน เพราะซิ่นตีนจกเป็นผ้าสำคัญสำหรับนุ่งในพิธีต่าง ๆ นอกจากนี้ลักษณะทางสังคมยังกำหนดให้ผู้หญิงที่จะออกเรือนแต่งงานเป็นผู้เตรียมเครื่องใช้ไม้สอยในการออกเรือนที่เกี่ยวเนื่องกับผ้าแทบทั้งสิ้น เช่น ที่นอน ผ้าหลบนอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า ย่าม และผ้าขาวม้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบังคับให้ผู้หญิงต้องเป็นผู้ผลิต เป็นผู้ทอผ้าขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตของตน ครั้นเมื่อสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผ้าทอพื้นบ้านที่เคยผลิตใช้ในครอบครัวก็เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย จนในปัจจุบันชาวหาดเสี้ยวจำนวนไม่น้อยที่ยึดการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก นอกจากบางส่วนที่ยังยึดอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก และทอผ้าเป็นอาชีพรอง
ผ้าทอพื้นบ้านที่ทอจำหน่ายทั่วไปของชาวหาดเสี้ยว ได้แก่
ผ้าห่มนอน หรือผ้าหลบนอน เป็นผ้าฝ้ายเนื้อหนา ลายขัดแบบผ้าขาวม้า แต่ตาใหญ่สลับสี
หมอนผา หรือหมอนขวาน และหมอนสี่เหลี่ยมสำหรับหนุนนอน เป็นหมอนมีลวดลายหน้าหมอนเช่นเดียวกับหมอนอีสาน
ผ้าขาวม้า เป็นผ้าขาวม้าผ้าฝ้ายทอเป็นตาสี่เหลี่ยมสลับสี แต่ถ้าเป็นผ้ากราบพระจะมีลวดลายเป็นรูปสัตว์ที่เชิงผ้า เป็นรูปม้า ช้าง คนขี่ม้า และลายเรขาคณิต
ผ้าเช็ดหน้า มักทอด้วยฝ้ายสีขาวยกดอกในตัว กว้างประมาณสองคูณสี่คืบ ที่เชิงทั้งสองข้างทอเป็นรูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า หรือคนขี่ม้าประกอบลายเรขาคณิต แต่เดิมใช้ในพิธีแต่งงานสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาว ใช้เช็ดหน้าเวลาเช้าวันรุ่งขึ้นของการแต่งงานแล้วเก็บไว้เป็นสิริมงคล ปัจจุบันผ้าประเภทนี้ได้ประยุกต์รูปแบบและลวดลายเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่เป็นต้น
ผ้าห่ม เป็นผ้าห่มคลุมออกนอกบ้านหรือห่มไปวัดหรืองานพิธี เป็นผ้าฝ้ายค่อนข้างหนาทอด้วยหูกหน้าแคบจึงต้องใช้สองผืนผนึกต่อกันตรงกลาง กว้างประมาณ 90 เซนติเมตร ยาวประมาณ 150 เซนติเมตร มักทอยกดอกด้วยไหมสีดำหรือฝ้ายย้อมคราม ลายละเอียดเรียกว่า ลายดอกพริกไทย ที่ขอบทอเป็นลายสีดำ สีเหลือง และสีแดงสลับกัน เชิงด้านหนึ่งจะมีลายกว้างเป็นพิเศษ แต่อีกด้านหนึ่งจะแคบกว่า และมักทำเป็นเชิงครุย ปล่อยเส้นด้ายเป็นเกลียวไว้
ย่าม เป็นของใช้ที่ทำจากผ้าทอที่มีชื่อเสียงอีกชนิดหนึ่งของหาดเสี้ยว แต่เดิมมักเป็นย่ามสีขาวลายเป็นเส้นดำสลับลงมา มีสามขนาด ขนาดใหญ่พิเศษใช้ใส่อุปกรณ์การทอผ้า ย่ามชนิดนี้มักแขวนประจำหูก หรือใส่ด้ายดิบไปย้อม หรือใส่ผ้าที่ทอแล้วไปขาย อีกชนิดหนึ่งใช้เป็นย่ามติดตัวเดินทาง และอีกชนิดหนึ่งเป็นย่ามขนาดเล็ก ผู้เฒ่าใช้ใส่ของกระจุกกระจิกติดตัวไปวัด ปัจจุบันแม้ย่ามชนิดนี้จะยังมีพอใช้กันอยู่ทั่วไปก็ตาม แต่ก็มีการทอย่ามเป็นสีต่าง ๆ โดยเฉพาะสีแดงจำหน่ายอยู่ทั่วไป
ซิ่นตีนจก ซิ่นหาดเสี้ยวแต่เดิมเป็นซิ่นต่อกันสามชิ้น ลายขวางแบบซิ่นล้านนาไทย มักเป็นผ้าฝ้ายอาจมีไหมสลับบ้างแต่ไม่ใคร่พบ ซิ่นหาดเสี้ยวมี 2 ชนิด คือ ซิ่นธรรมดาใช้ใส่อยู่กับบ้านและทำงาน และซิ่นตีนจกที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานบุญ งานเทศกาลและพิธีการสำคัญ ซิ่นธรรมดามักเป็นซิ่นพื้นลายขวางลำตัว มีเชิงเป็นแถบสีดำและสีแดงอมส้ม ส่วนซิ่นตีนจกนั้นจะประกอบด้วยสามส่วนคือ หัวซิ่น (ส่วนบน) ตัวซิ่น (ส่วนกลาง) และตีนซิ่น (ส่วนล่าง) ตีนจกคือเชิงซิ่นที่ใช้เทคนิคการควักหรือล้วงด้วยมือ ซึ่งอาจใช้ขนเม่น หรือไม้ช่วยก็ได้ ทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าสลับสีสันสวยงาม ลายตีนจกของหาดเสี้ยวจะมีลักษณะการทอที่ทอคว่ำหน้าลายลง ลวดลายที่ทอเป็นลายเรขาคณิตเป็นหลัก ลายที่พบมีอยู่ 9 แบบด้วยกัน คือ
ลายสิบหกดอกตัด (ลายสิบหกขอ)
ลายสิบสองดอกตัด (ลายแปดขอ)
ลายสี่ดอกตัด (ลายสี่ขอ)
ลายเครือใหญ่ (ลายดอกเครือใหญ่)
ลายเครือกลาง (ลายดอกเครือกลาง)
ลายเครือน้อย (ลายดอกเครือน้อย)
ลายอ่างน้ำ
ลายสองท้อง
ลายดอกสองท้อง
ลายใหญ่เหล่านี้จะทอสลับลายหน้ากระดานเล็ก ๆ คั่นเป็นชั้น ๆ สีที่ใช้มักออกวรรณะสีต่าง ๆ แต่หนักไปทางวรรณะสีแดงอมส้ม สีส้ม และสีน้ำตาลปนเหลือง ส่วนลายเล็ก ๆ ที่ย่อมุมและสอดไส้จะเป็นสีเหลือง สีเขียว สีชมพู และสีครามเป็นส่วนใหญ่
ซิ่นตีนจกของบ้านหาดเสี้ยวเป็นผ้าทอพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเด่นชัดและมีความประณีตงดงามอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/wtextile.htm