วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ระบำศรีสัชนาลัย



เป็นระบำที่วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัยคิดประดิษฐ์ขึ้น โดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอันได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เจดีย์ราย วัดเจดีย์เจ็ดแถว ภาพแกะสลักบานประตูไม้ประดับวัดมหาธาตุ เมืองเชลียง ลวดลายปูนปั้นพระโพธิสัตว์ เป็นรูปนางอัปสรแสดงท่าร่ายรำประดับยอดซุ้ม ประตูวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระปรางค์) ตุ๊กตาสังคโลกแบบต่าง ๆ ลักษณะท่าร่ายรำของระบำชุดนี้จะโน้มเอียงไปทางศิลปะการร่ายรำแบบเขมรหรือขอม เพราะตามหลักฐานทางโบราณคดีนั้นพบว่า ศิลปะสมัยศรีสัชนาลัยเป็นศิลปะที่นิยมแบบเขมร
เครื่องแต่งกายของระบำศรีสัชนาลัย ผู้แสดงจะสวมเสื้อแขนสั้นแนบเนื้อสีชมพู นุ่งผ้านุ่งสีม่วงตัดเย็บให้แหวกได้ตรงกลางโดยสอดซับพลีทสีชมพูอ่อนไว้ด้านใน ตัวผ้านุ่งด้านหน้าจับจีบพับเป็นหลาย ๆ ชั้น โดยใช้สีด้านในผ้านุ่งเป็นสีทอง รัดเอวเพื่อเน้นทรวดทรง ใส่ห้อยหน้าปักลวดลายแบบสุโขทัย สวมกรองคอ พาหุรัด ทองพระกรและต่างหูเป็นเกลียวยาว ศีรษะสวมชฎาหรือเทริด ยอดชฎาทำเป็นรูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำตามแบบเจดีย์วัดช้างล้อมกลางเมืองศรีสัชนาลัย
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบด้วย กระจับปี่ ซอสามสาย ปี่ใน ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน ฉิ่ง กรับ และโหม่ง ทำนองเพลงประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดยอาจารย์บัณฑิต ศรีบัว อาจารย์ประจำหมวดวิชาเครื่องสายไทย ภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย เป็นเพลงอัตรา 2 ชั้น และชั้นเดียวตามแบบเพลงระบำทั่วไป ลีลาเพลงมีลักษณะนุ่มนวลอ่อนโยนและเยือกเย็น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/wdsrisuch.htm

ระบำสุโขทัย


ระบำโบราณคดีชุดนี้เกิดจากแนวคิดริเริ่มของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้จัดให้มีการแสดงถวายหน้าพระที่นั่งเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ในงานเปิดอาคารใหม่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เป็นผู้คิดท่ารำ อาจารย์มนตรี ตราโมทเป็นผู้แต่งทำนองขึ้นใหม่ให้มีความไพเราะเพราะพริ้ง
เครื่องแต่งกายชุดระบำสุโขทัยนั้นได้อาศัยการศึกษาภาพลายเส้นรอบพระพุทธบาทสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย ส่วนทรงผมดูแนวจากภาพลายเส้นจิตรกรรมที่วัดศรีชุม การแต่งกายแบ่งออกเป็นตัวเอกและตัวรอง ดังนี้
ศีรษะ
ทรงยอดรัศมีสำหรับตัวเอก และทรงระฆังคว่ำสำหรับตัวรอง
ต่างหู
เป็นดอกกลม
เสื้อในนาง
สีชมพูอ่อน
กรองคอ
สีดำ ปักดิ้นและเลื่อม
ต้นแขน
ตัวรองพื้นสีดำ ปักดิ้นและเลื่อม ตัวเอกทำด้วยหนังลงรักปิดทอง
กำไลข้อมือ
ตัวรองพื้นสีดำ ปักดิ้นและเลื่อม ตัวเอกทำด้วยหนังลงรักปิดทอง
ข้อเท้า
ตัวรองพื้นสีดำ ปักดิ้นและเลื่อม ตัวเอกทำด้วยหนังลงรักปิดทอง
ผ้ารัดเอว
ทำด้วยผ้าสีดำ มีลวดลายเป็นดอกไม้ประดับและห้อยที่ชายเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีริบบิ้นสีเขียวห้อยมาทั้งสองข้าง
ผ้านุ่ง
เป็นกระโปรงบานจีบหน้าสีส้ม มีลูกไม้สีขาวระบายเป็นชั้น ๆ
ทรงผม
เกล้าผม
ครอบด้วยที่รัดผม
จำนวนผู้เล่น
ผู้หญิงจำนวน 7 คน (มากกว่านั้นก็ได้แต่ผู้แสดงต้องเป็นเลขคี่)
เครื่องดนตรี
ประกอบด้วย ปี่ใน กระจับปี่ ฆ้องวงใหญ่ ซอสามสาย ตะโพน ฉิ่งและกรับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/wdsukhotai.htm

การละเล่นมังคละพื้นบ้านสุโขทัย


มังคละ หมายถึง มงคล หรืองานที่เจริญก้าวหน้า มังคละจึงเป็นดนตรีที่เป็นมงคล ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ว่า "ท้าวหัวราน คำบง คำกลอง ด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณ เลื่อนขับ" คำว่า คำบง คำกลอง เป็นคำโบราณที่มีใช้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแปลว่า การประโคม ดังนั้นคำว่า คำบง คำกลอง จึงหมายถึงการตีกลองหรือประโคมกลองที่ขึงด้วยหนัง กลองมังคละเป็นดนตรีในลังกา ที่ใช้แสดงในพิธีมงคลทุกอย่าง เชื่อว่ากลองมังคละนี้เข้ามาพร้อมๆ กับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในสมัยกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยพระยาลิไท ดังนั้นมังคละจึงมิใช่เป็นของใหม่ที่ชาวบ้านคิดขึ้นเอง แต่เป็นดนตรีหลักที่กลับกลายมาเป็นดนตรีพื้นบ้านของสุโขทัย เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงมังคละนั้นมี กลองมังคละ ชาวบ้านเรียกว่า "โจ๊กโกร๊ด" ลักษณะเหมือนกลองยาวแต่มีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 6 นิ้ว ไม่เกิน 7 นิ้ว สูงประมาณ 1 ฟุตเศษ หน้ากลองขึงด้วยหนังลักษณะเหมือนกลองยาวเด็ก แต่การเจาะขุดในตัวกลองนั้นทำเล็กกว่ากลองยาว เสียงจะดังแหลม และเป็นตัวสำคัญในการเล่นมังคละ นอกจากกลองมังคละแล้วก็มีกลองสองหน้าอยู่ 2 ใบ ใบที่หนึ่งเป็นกลองที่ใช้ตียืน อีกตัวหนึ่งเป็นกลองที่ตีหลอน ชาวบ้านเรียกว่าจังหวะขัด นอกจากนี้ก็มีโหม่ง 3 ใบ ฉาบเล็ก หรือฉาบกรอ และฉาบใหญ่ เป็นเครื่องให้จังหวะในการเล่นมังคละ มังคละพื้นบ้านนั้นใช้ผู้บรรเลง 7 คน ส่วนผู้แสดงทั้งชายและหญิงไม่ต่ำกว่า 5 คนรวมแล้วประมาณ 20 คน การแต่งกายฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม คาดเอวด้วยผ้าสีสันสดใส บางรายก็ประแป้ง แต่งหน้า ส่วนฝ่ายหญิงนั้นนิยมนุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าแถบ แต่งหน้าแต่งผมให้สวยงาม เวลาที่ใช้ในการแสดงประมาณ 1 ชั่วโมง เพลงที่ใช้บรรเลงมีหลายเพลง มีท่ารำที่สวยงามและแปลกประหลาด เช่น ท่ากวางเหลียวหลัง ท่าแม่หม้ายทิ้งแป้ง ท่าลิงอุ้มแตง ฯลฯ คนดูเห็นแล้วก็ชอบใจ เพราะเป็นท่าที่พ่อครู แม่ครูได้ประดิษฐ์ท่ารำมาจนชำนิชำนาญสืบทอดมาถึงลูกหลาน ปัจจุบันได้มีหน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญของการแสดงพื้นบ้านของจังหวัดสุโขทัย โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆได้มาถ่ายทำวิดีทัศน์ นำไปประชาสัมพันธ์เผยแพร่ทั่วประเทศ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/wmank.htm

เครื่องปั้นดินเผาทุ่งหลวง

เครื่องปั้นดินเผาของชาวทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศในปัจจุบันมีความหลากหลายมากกว่าในอดีต จากรูปแบบดั้งเดิมที่ปั้นโอ่งไว้ใช้และจำหน่าย ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นกระถางปลูกต้นไม้ แจกัน โคมไฟ กระปุกออมสิน รูปสัตว์ต่าง ๆ ของตั้งโชว์ เป็นต้น การตกแต่งภาชนะใช้วิธีพิมพ์ลายเป็นส่วนใหญ่ โดยจะใช้ไม้สลักหรือไม้เนื้ออ่อน เขียนลวดลาย นำไปกดบนภาชนะให้เป็นลวดลาย เมื่อปั้นเสร็จใหม่ ๆ นอกจากนี้ก็มีการฉลุลายเป็นลายโปร่ง การเผาจะเป็นการเผาแบบโบราณ คือการเผาแบบเตาสุม ก่อนเผานำภาชนะที่เผาไปผึ่งแดดไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมงให้แห้ง เพื่อให้ภาชนะที่เผามีสีสวยงาม การเผาจะเผาทิ้งไว้ข้ามคืน รุ่งเช้าจึงจะนำเครื่องปั้นหรือภาชนะนั้นออกมาจากเตาเผา


ศิลปินพื้นบ้านที่ทำชื่อเสียงให้เครื่องปั้นดินเผาบ้านทุ่งหลวงโด่งดังเป็นที่สนใจของประชาชนคือ คุณยายตี๋ เฮงสกุล หลังจากที่คุณยายตี๋ได้รับรางวัลดีเด่นในงานประกวดการแสดงศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อพ.ศ. 2527 ทำให้งานเครื่องปั้นดินเผาของคุณยายตี๋ขายได้อย่างจริงจัง แม้คุณยายตี๋ เฮงสกุลจะถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังมีผู้สืบสานศิลปะการปั้นเครื่องปั้นดินเผาอำเภอทุ่งหลวงต่อไป เช่น คุณยายเนี้ยว ทองดี น้องสาวคุณยายตี๋ และชาวบ้านท่านอื่น ๆ เช่น คุณเฉลา อยู่กลัด ผู้ปั้นผลงานนางกวัก พระอภัยมณี นางเงือก หัวพญานาค ฯลฯ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/wpottery.htm

เครื่องสังคโลก

สังคโลก เป็นเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี มีการเคลือบผิวและตกแต่งลวดลายงดงาม เผาด้วยความร้อนสูงมากประมาณ 1,150-1,280 องศาเซลเซียส เตาเผาและเทคนิคการเผาได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานานนับร้อยปี ตั้งแต่สมัยต้นกรุงสุโขทัยจนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่มีเตาเผาปรากฏอยู่ที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และริมแม่น้ำน้อย อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี รูปแบบของสังคโลกมีหลากหลายอันเนื่องมาจากเทคนิคการตกแต่งทั้งการเคลือบและลวดลายต่าง ๆ กัน ดังนี้
เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ แต่ประดับลวดลายด้วยการใช้แม่พิมพ์กดลวดลายประทับ เช่น ลายก้านขด หรือลายเรขาคณิต นอกจากนี้ก็มีการประดับด้วยวิธีการปั้นดิน แล้วแปะติดเข้ากับภาชนะก่อนเข้าเตาเผา เข้าใจว่าเป็นแบบดั้งเดิมที่มีมาก่อนและทำสืบต่อมาในระยะหลังด้วย
เครื่องถ้วยเคลือบสีน้ำตาลเข้มเป็นการเคลือบสีพื้นสีเดียว ลักษณะรูปแบบและสีน้ำเคลือบคล้ายกับเครื่องถ้วยลพบุรีประเภทเคลือบสีน้ำตาล
เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายใต้เคลือบสีน้ำตาล มีลักษณะคล้ายเครื่องถ้วยจีนจากเตาสือโจ้ว กับเครื่องถ้วยอันหนานของเวียดนาม
เครื่องถ้วยเคลือบขาวที่เขียนลวดลายบนเคลือบสีน้ำตาลทอง
เครื่องถ้วยเนื้อดินแกร่งกึ่งสโตนแวร์ไม่เคลือบแต่ชุบน้ำดิน แล้วเขียนลวดลายด้วยสีแดง
เครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวไข่กา หรือเซลาดอน (celadon) ตกแต่งลวดลายด้วยการขูดและขุดลายในเนื้อดิน แล้วเคลือบทับ ประเภทนี้คล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยจีนจากเตาหลงฉวน สมัยราชวงศ์ซ้องตอนปลายถึงราชวงศ์หยวน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20
เครื่องถ้วยดินเผา หรือตากให้แห้งแล้วนำสลิปน้ำดินขาวทาทับอย่างหนา ๆ สลักลายเบา แล้วจึงนำเข้าเตาเผา การผลิตเครื่องสังคโลกในช่วงแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อประโยชน์ใช้สอย และค้าขายในชุมชนและหัวเมืองใกล้เคียง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 ชาวศรีสัชนาลัยสามารถสร้างเตาที่ใช้เผาเครื่องสังคโลกคุณภาพดี และดำเนินการผลิตจนสามารถส่งออกขายอย่างแพร่หลายในตลาดต่างแดนได้ในพุทธศตวรรษที่ 20-22 ราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีการค้นพบคำคำหนึ่งในบันทึกของชาวญี่ปุ่น คือคำว่า ซันโกโรกุ (sunkoroku) เข้าใจว่าเป็นคำที่คนญี่ปุ่นพยายามออกเสียงโดยหมายถึง สวรรคโลก (แหล่งหรือเตาเผาที่เมืองศรีสัชนาลัย เดิมเรียก สวรรคโลก) ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นคำว่า สังคโลก โดยคนสยามอีกทีหนึ่ง เครื่องสังคโลกตามเหตุผลนี้จึงหมายถึง เครื่องปั้นดินเผาทุกชนิดที่ผลิตในแคว้นสุโขทัย กลุ่มผู้ซื้อไม่ว่าในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ ต่างก็รู้จักกันในชื่อนี้ทั้งสิ้น
เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องสังคโลกที่สำคัญ พบเตาจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำยม ส่วนมากเป็น "เตาประทุน" หรือเตาชนิดระบายความร้อนผ่านในแนวนอน กลุ่มเตาที่สำคัญสองกลุ่มคือ กลุ่มเตาบ้านเกาะน้อย และกลุ่มเตาบ้านป่ายาง ในพุทธศตวรรษที่ 20 เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัยเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมของท้องตลาด การผลิตสังคโลกในบริเวณศรีสัชนาลัยดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรม โดยมีอาณาจักรอยุธยาซึ่งมีอิทธิพลด้านการเมืองเหนือสุโขทัยและศรีสัชนาลัยดำเนินธุรกิจในฐานะรัฐที่เป็นพ่อค้าคนกลางนำใส่เรือสำเภาออกไปขายตามเมืองท่าทั้งในประเทศและ นอกประเทศ บันทึกการสั่งสินค้าของพ่อค้าฝรั่งชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เครื่องสังคโลกศรีสัชนาลัยยังคงเป็นสินค้าที่ยังเป็นที่นิยมอยู่ โดยเห็นได้จากจดหมายเกี่ยวกับการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในปีพุทธศักราช 2157 กล่าวถึงความต้องการซื้อเครื่องถ้วยชามสังคโลกของพ่อค้าฮอลันดา และกล่าวถึงความนิยมของชาวญี่ปุ่นว่า ต้องการเครื่องสังคโลกของไทย
สังคโลกหยุดการผลิตไประยะหนึ่ง จนกระทั่งปลายศตวรรษ 1960 ได้มีการฟื้นฟูสังคโลกครั้งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบล้านนาที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง ปัจจุบันมีเครื่องสังคโลกสมัยใหม่ที่รู้จักกันในนาม ศิลาดล ชามตราไก่ ในรูปของภาชนะแบบต่าง ๆ
เครื่องสังคโลกของสุโขทัยนับวันจะหายากยิ่งขึ้น ราคาบางชิ้นซื้อขายกันนับสิบล้านบาท และมีแนวโน้มว่าไปอยู่ในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย ผู้ที่มีส่วนสืบสานการทำเครื่องสังคโลกแบบโบราณ คือ คุณสมเดช พ่วงแผน คุณลุงแฟง พรมเพ็ชร และคุณสุเทพ พรมเพ็ชร ประมาณ พ.ศ. 2520 คุณสมเดช พ่วงแผนและพี่ชายคือ คุณประจวบ พ่วงแผน ได้ศึกษาเรื่องดิน น้ำเคลือบ การเผา จนมีความรู้และสามารถทำเครื่องสังคโลกได้ และได้สร้างพิพิธภัณฑ์เปิดชื่อ อาณาจักรพ่อกู สังคโลก จัดแสดงเครื่องสังคโลกโบราณที่สะสมไว้ให้ผู้สนใจเข้าชม พร้อมทั้งผลิตเครื่องสังคโลกเลียนแบบโบราณ เครื่องสังคโลกรูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช้เป็นของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ ผลงานใน อาณาจักรพ่อกู สังคโลก มีสังคโลกจำลองมากมาย สิ่งที่คุณสมเดชภาคภูมิใจมากก็เพราะงานที่ผลิตออกไปทุกชิ้นถือว่าเป็นงานศิลปะมีชิ้นเดียวไม่ซ้ำกัน ขณะที่คุณลุงแฟง พรมเพ็ชรและบุตรชายคือ คุณสุเทพ พรมเพ็ชร ชาวบ้านอำเภอศรีสัชนาลัยก็ได้ริเริ่มทำสังคโลกเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยทำเครื่องสังคโลกแบบโบราณเช่นกัน ทั้งยังออกแบบผลิตเครื่องสังคโลกเป็น ถ้วยชาม ของที่ระลึกที่สวยงามและทรงคุณค่ายิ่ง เครื่องสังคโลกแบบของโบราณของคุณลุงแฟงมีความงดงามประณีตมาก ในการประกวดเครื่องสังคโลกซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 ผลงานของคุณลุงแฟงได้รับรางวัลดีเด่นและได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบันคุณสุเทพ พรมเพ็ชรและครอบครัวเป็นผู้สืบทอดการทำเครื่องสังคโลกต่อมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานของสุเทพสังคโลก มีทั้งที่เป็นถ้วยกาแฟ ชาม จานที่ระลึก ตุ๊กตารูปต่าง ๆ ฯลฯ เป็นที่นิยมชื่นชอบทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ สิ่งที่ภาคภูมิใจของคุณสุเทพ พรมเพ็ชรคือได้ปั้นจานสังคโลกขนาด 9 นิ้วเพื่อให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบวาระสามทศวรรษมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นที่ 27 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2545เป็นที่น่ายินดีว่า เครื่องสังคโลกในวันนี้ยังทรงคุณค่าอมตะแห่งภูมิปัญญาไทยกว่า 700ปีและเป็นที่ชื่นชอบนิยมศึกษาอย่างลึกซึ้งในแง่โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั้งในสถาบันการศึกษาของไทยและต่างประเทศ การประชุมนานาชาติครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 คือ การประชุมนานาชาติในหัวข้อ "สังคโลก-สุโขทัย -อยุธยา-กับ เอเชีย (Sangkhalok-Sukhothai-Ayutthaya and Asia)" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศูนยย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมอนุรักษ์เครื่องปั้นดินเผาสังคโลกนั้น ได้รับความสนใจอย่างมากมาย มีผู้เข้าประชุมหลากหลายทั้งที่เป็นคณาจารย์ ภัณฑารักษ์ บรรณารักษ์ นักวิทยาศาสตร์และผู้ประกอบการผลิตเครื่องสังคโลกในปัจจุบัน นักศึกษาที่ทำวิจัยเรื่องเครื่องสังคโลกระดับปริญญาเอก และปริญญาโท ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้รู้ นักสะสมมืออาชีพ นักสะสมรุ่นใหม่และรักในความงดงามของเครื่องสังคโลก อนาคตของเครื่องสังคโลกที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจะกลับพลิกฟื้นทั้งในด้านรูปแบบ การผลิต การส่งออกหรือไม่นั้น ก่อนอื่นต้องอยู่ที่คนไทยเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทยด้วยกัน ช่วยกันศึกษาค้นคว้า ถ่ายทอดทั้งความรู้ด้านวิชาการ สืบสานการผลิตในภาคปฏิบัติ ส่งเสริมการตลาดให้แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วยกันริเริ่มสนับสนุนใช้เครื่องสังคโลกของไทย การพลิกฟื้นชื่อเสียงและคุณค่าของเครื่องสังคโลกไทยย่อมเป็นจริงไปได้อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/wsunk.htm